เผยงานวิจัยชี้ ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศ อานุภาพทำลายลึกถึงระดับเซลล์ และ DNA
นักวิจัยเผย ฝุ่น PM2.5 มลพิษทางอากาศ เข้าสู่ทางเดินหายใจแล้วยังสามารถเข้าสู่กระแสโลหิต มีอานุภาพทำลายลึกถึงระดับเซลล์และพันธุกรรมมนุษย์ หรือดีเอ็นเอ เชื่อมโยงการสัมผัสมลพิษทางอากาศกับการเกิดโรคทางเดินหายใจในกลุ่มคนที่ไม่เคยมีประวัติมาก่อน
วันที่ 10 ก.ย.2567 สถาบันพันธุศาสตร์มนุษย์แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยปอนติฟิเซีย ฮาเวเรียนา ร่วมกับโรงพยาบาล ซาน อินาซิโอ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยฟรานซิสโก โฮเซ่ เด คาลดาส ในกรุงโบโกตา ของโคลอมเบียเปิดเผยงานวิจัย ที่ชี้ว่า มลพิษทางอากาศไม่เพียงแต่ทำลายปอดและลำคอ แต่ยังมีอานุภาพแทรกซึมสู่หลอดเลือดและทางเดินหายใจ ทำลายลึกลงไปถึงระดับเซลล์และพันธุกรรม (DNA)
โดยนักวิจัยได้เปรียบเทียบตัวอย่างเลือดจากคนที่มีสุขภาพแข็งแรงที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น กับผู้ป่วยอาสาสมัครที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอด เช่น โรคหอบหืด ซึ่งผลงานวิจัยได้แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ ที่นำไปสู่การเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ที่มีความคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเช่นโรคหอบหืด ในกลุ่มคนที่มีสุขภาพดี ซึ่งไม่เคยประวัติเป็นโรคทางเดินหายใจมาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า มลพิษทางอากาศหมายถึงอากาศที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย ซึ่งมีตั้งแต่ไนโตรเจน ไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ ปะปนกับก๊าซ โอโซน และคาร์บอนมอนออกไซด์ ข้อมูลจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2022 แสดงให้เห็นว่ามลพิษส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ อย่างการที่รถยนต์เผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและอุตสาหกรรมต่างๆ
โดยฝุ่นพีเอ็ม คือส่วนผสมของอนุภาคของแข็งและของเหลวของสารอินทรีย์และอนินทรีย์ที่ลอยอยู่ในอากาศ คิดเป็นร้อยละ 22 ของมลพิษทางอากาศ ขณะที่ส่วนประกอบหลักของฝุ่นละออง ได้แก่ แอมโมเนีย ซัลเฟต ไนเตรต โซเดียมคลอไรด์ ถ่านหิน ขี้เถ้าโลหะ และน้ำ ส่วนประกอบเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ลึกและสะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจหรือในกระแสเลือด
จากข้อมูลที่อ้างถึงในการศึกษานี้ ผลกระทบรวมของมลพิษทางอากาศสัมพันธ์กับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 6.7 ล้านคนในแต่ละปีทั่วโลก ในโคลอมเบีย มีผู้เสียชีวิต 17,549 รายในแต่ละปีเนื่องจากคุณภาพอากาศไม่ดี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8 ของการเสียชีวิตทั้งปีของประเทศ
โดยเดือนมีนาคมปีนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมโคลอมเบียได้แจ้งเตือนระยะที่ 1 เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เนื่องจากมีการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมในระดับสูงแม้จะมีการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว แต่คุณภาพอากาศที่ไม่ดีในกรุงโบโกตายังคงเป็นความจริงที่น่ากังวลซึ่งส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชน โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า จนถึงปีนี้ มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน 757,805 รายในกลุ่มประชากรทั่วไป
เอเดรียนา โรยาส โมเรโน ศาสตราจารย์จากสถาบันพันธุศาสตร์มนุษย์ เปิดเผยว่า ด้วยเหตุนี้จึงมีสายการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการแสดงออกทางพันธุกรรมของมนุษย์ ที่เรียกว่า เอพิเจเนติกส์ (epigenetics) เมื่อมีความแน่นอนอยู่แล้วว่า สภาพอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยีนของผู้คน
แหล่งที่มา [1]
Comments